สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน
วันนี้ผมจะขออนุญาตมาทำการโพสต์และแชร์ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง ความรู้และวิธีในการอ่านข้อมูล ซึ่งจะรวมไปถึงการนำข้อมูลจากผลการทดสอบดินหรือ BORING LOG ไปใช้งานมาฝากเพื่อนๆ ทุกคนนะครับ
เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่ 2 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงต้นๆ ของการโพสต์ในหัวข้อนี้ ดังนั้นในวันนี้ผมจะมาเริ่มต้นอธิบายถึงขั้นตอนในการเจาะสำรวจดินให้แก่เพื่อนๆ ได้ทราบกันนะครับ
ในการทดสอบคุณสมบัติของชั้นดินนั้นวิศวกรผู้ออกแบบจำเป็นที่จะต้องทำการกำหนดรายละเอียดของการสำรวจดินอย่างชัดเจนว่ามีรายละเอียดเป็นเช่นไร เช่น จะทำการเจาะทั้งหมดกี่หลุม จะกำหนดให้ระยะห่างระหว่างหลุมเจาะนั้นเป็นเท่าใด จะทำการเจาะสำรวจที่ตำแหน่งใด จะใช้เครื่องมือใดในการเก็บตัวอย่างของดินบ้าง จะทำการเจาะและเก็บตัวอย่างดินที่ระดับของความลึกสูงสุดเท่าใด จะทำการทดสอบคุณสมบัติใดของดินบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนตรงตามที่ต้องการที่จะทราบจริงๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้ประหยัด เวลา และ ค่าใช้จ่าย ในการทำงานที่เกี่ยวกับข้องกับงานดินที่เราสนใจอีกด้วย ซึ่งการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมนั้นจะต้องมีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
โดยที่ขั้นตอนของการสำรวจนั้นอาจแบ่งออกได้หลักๆ 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง เช่น ชนิดของโครงสร้าง ประเภทของการใช้งาน น้ำหนักจากอาคารทางด้านบนที่ถูกถ่ายลงสู่ ฐานราก และ เสาเข็ม ระยะของการทรุดตัวที่ยอมให้ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลจากากรสำรวจนั้นออกมาตรงตามวัตถุประสงค์ในการออกแบบให้มากที่สุดนะครับ
2. ทำการรวบรวมข้อมูลดินในเบื้องต้นเท่าที่เราจะสามารถหาได้ของสถานที่ก่อสร้าง เช่น ข้อมูลทางด้านธรณีวิทยา ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศหรือแผนที่ของสถานที่ก่อสร้าง ข้อมูลการสำรวจชั้นดินจากสถานที่ใกล้เคียง เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะข้อมูลในเบื้องต้นเหล่านี้ที่เราทำการเตรียมเอาไว้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ออกแบบซึ่งจะช่วยให้สามารถมองเห็นถึงสภาพโดยรวมของพื้นที่ๆ เราจะทำการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี สามารถที่จะนำมาใช้คาดคะเนลักษณะของชั้นดินเพื่อวางแผนในการสำรวจชั้นดินในขั้นตอนต่อๆ ไปได้ครับ
3. ออกตรวจสอบพื้นที่จริงๆ โดยที่วิศวกรจะต้องทำการสำรวจดูพื้นที่จริงๆ ด้วยสายตาและการสังเกต ว่าดินในสถานที่ก่อสร้างของเรานั้นมีลักษณะทางกายภาพต่างๆ เป็นเช่นไร ในอดีตสถานที่ก่อสร้างนี้มีประวัติเป็นเช่นไร จะมีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบของเราบ้าง และ จะต้องทำการสังเกตสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบ เช่น เคยมีน้ำท่วมในสถานที่นี้หรือไม่ เคยมีประวัติดินถล่มหรือไม่ เคยมีประวัติน้ำกัดเซาะดินหรือไม่ เป็นที่ลุ่มหรือที่ดอน เป็นหนองน้ำหรือไม่ เป็นที่ทิ้งขยะหรือไม่ ดินในสถานที่ก่อสร้างนั้นเป็นดินเดิมหรือดินถมใหม่ เป็นต้น
4. ออกทำการสำรวจพื้นที่จริงๆ ในเบื้องต้น โดยที่ในขั้นตอนนี้เราอาจจะใช้เพียงเครื่องมือง่ายๆ อาจมีการขุดเจาะและเก็บตัวอย่างดินเพียงเล็กน้อยและเพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลของชั้นดินในเบื้องต้น เช่น จะได้ทราบชนิดของดินในเบื้องต้น การเรียงตัวของชั้นดินในเบื้องต้น ระดับโดยประมาณของน้ำใต้ดิน เป็นต้น ทั้งนี้การหาข้อมูลในขั้นตอนนี้ก็เพื่อที่จะนำไปใช้วางแผนการสำรวจในขั้นตอนต่อไป
5. ออกทำการสำรวจพื้นที่จริงๆ โดยละเอียด ทั้งนี้การสำรวจในขั้นตอนนี้จะเป็นการเก็บข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำข้อมูลในขั้นตอนนี้ไปทำการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องทำตามสิ่งต่างๆ ที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด เช่น วิธีในการเก็บตัวอย่างของดิน วิธีในการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ จำนวน ตำแหน่ง ความลึก ของหลุมเจาะ เป็นต้นครับ
ในวันพฤหัสบดีหน้าผมจะขออนุญาตมาพูดถึงข้อแนะนำสำหรับ จำนวน และ ระดับความลึก ของหลุมเจาะเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบฐานรากและเสาเข็ม หากเพื่อนๆ ท่านใดมีความสนใจในหัวข้อนี้เป็นพิเศษก็สามารถที่จะติดตามอ่านบทความนี้ของผมได้ต่อไปในสัปดาห์หน้านะครับ
หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ
#โพสต์วันพฤหัสบดี
#ความรู้เกี่ยวกับการเจาะสำรวจดิน
#ขั้นตอนในการเจาะสำรวจดิน
ADMIN JAMES DEAN