สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน
วันนี้แอดมินอยู่ กทม แล้วนะครับ เมื่อ 2 วันก่อนไปทำงานที่เชียงรายมาเจอทั้งสภาพอากาศร้อนและฝนพร้อมๆ กันเลย เล่นเอาเกือบจะเป็นไข้กันเลยทีเดียวครับ ยังไงก็ขอให้แฟนเพจทุกๆ คนดูแลรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ
วันนี้ผมจะมาตอบคำถามของน้องท่านหนึ่งที่ได้ถามมาในโพสต์ของผมที่ผมได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องวิธีในการประมาณค่าหน้าตัดของเหล็กลวดอัดแรงในการออกแบบพื้น คอร นะครับ คำถามก็คือว่าค่า fpu นั้นได้มาอย่างไร จากการทดสอบหรือการคำนวณ ?
ผมขอตอบคำถามของน้องท่านนี้ก่อนนะครับว่าค่า fpu ก็คือ ค่าหน่วยแรงดึงประลัยของลวดอัดแรงที่ถูกกำหนดเอาไว้สำหรับลวดอัดแรงแต่ละชั้นคุณภาพของลวดอัดแรง ซึ่งมาตรฐานของประเทศต่างๆ ได้กำหนดเอาไว้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น มอก ของบ้านเราที่กำหนดให้ใช้ค่า fpu นี้เป็นค่าแรงดึงประลัยขั้นต่ำของลวดอัดแรง เป็นต้น ซึ่งการที่เราจะทราบค่าๆ นี้ได้ เราจำเป็นต้องทำการดึง ตย ออกไปทำการทดสอบลวดอัดแรงตามสถาบันหรือองค์กรที่เชื่อถือได้นั่นเองครับ
ดังนั้นในการออกแบบเมื่อเราเลือกชั้นคุณภาพของลวดอัดแรงได้แล้ว เราจะทราบว่าค่า fpu ของเหล็กชั้นคุณภาพนั้นๆ มีค่าเท่ากับเท่าใด เราก็นำไปใช้ในการคำนวณได้ครับ แต่ เมื่อถึงเวลาทำงานจริง เราจำเป็นที่จะต้องทำการส่ง ตย ของลวดอัดแรงเพื่อไปทำการทดสอบจริงด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำงานโครงสร้างของเรานั่นเองครับ
พูดมาถึงตรงนี้ผมจึงอยากที่จะขอทำการอธิบายเพิ่มเติมถึงศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับค่า หน่วยแรง เรามักใช้กันบ่อยๆ ในงาน คอร เพิ่มเติมสักเล๋กน้อยนะครับ ทั้งเพื่อกันความสับสน
(1) ค่า fpi
ค่าๆ นี้คือ ค่าหน่วยแรงเริ่มแรก ที่เกิดจากการอัดลวดอัดแรงด้วยแรงอัดเริ่มแรก เมื่อหน้าตัด คอร ยังไม่ได้ผ่านการคำนวณค่า LOSS ต่างๆ
(2) ค่า fpe
ค่าๆ นี้คือ ค่าหน่วยแรงประสิทธิผล ที่เกิดจากการอัดลวดอัดแรงด้วยแรงอัดประสิทธิผล เมื่อหน้าตัด คอร ได้ผ่านการคำนวณค่า LOSS ต่างๆ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(3) ค่า fpy
ค่าๆ นี้คือ ค่าหน่วยแรงดึงคราก โดยคำนวณจากสภาวะแรงกระทำที่ทำให้หน้าตัดลวดอัดแรงเกิดการคราก
(4) ค่า fpu
ค่าๆ นี้คือ ค่าหน่วยแรงดึงประลัย โดยคำนวณจากสภาวะแรงกระทำที่ทำให้หน้าตัดลวดอัดแรงเกิดการวิบัติ
(5) ค่า fps
ค่าๆ นี้คือ ค่าหน่วยแรงในลวดอัดแรงที่สภาวะประลัย โดยคำนวณจากสภาวะแรงกระทำที่ทำให้หน้าตัดโครงสร้าง คอร เกิดการวิบัติ
หากอ่านจากคำอธิบายข้างต้นจะพบว่าค่า fpi และ fpe กับค่า fpu และ fps นั้นจะละม้ายคล้ายคลึงกันนะครับ แต่ มิใช่ค่าเดียวกัน ผมจึงอยากให้ดูรูปที่ผมแนบมาด้วยประกอบนะครับ จะพบว่าค่าที่ (1) เป็นค่าหน่วยแรงที่ยังไม่ได้คิด LOSS ส่วนค่าที่ (2) นั้นคิด LOSS แล้ว ดังนั้นวิศวกรย่อมที่จะต้องทำการออกแบบให้ค่าที่ (1) นั้นมีค่าที่สูงกว่าค่าที่ (2) เสมอ ส่วนค่าที่ (4) เป็นค่าหน่วยแรงของลวดอัดแรงเมื่อตัวลวดอัดแรงเองกำลังจะเกิดการวิบัติ ส่วนค่าที่ (5) เป็นค่าหน่วยแรงในลวดอัดแรงเมื่อหน้าตัดของโครงสร้าง คอร นั้นเกิดการวิบัติ ดังนั้นแน่นอนวิศวกรจะต้องทำการออกแบบให้ค่าที่ (4) นั้นมีค่าที่สูงกว่าค่า (5) เสมอนะครับ ก็ขอให้เวลานำค่าเหล่านี้ไปใช้งานเพื่อนๆ ก็อย่าได้จำสับสนกันนะครับ
หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ
ADMIN JAMES DEAN